สวัสดีค่ะ….
กลับมาพบกันอีกแล้วนะคะ Ep. นี้
เรามาว่าด้วยเรื่องของปูนซีเมนต์กันต่อ อย่าเพิ่งเบื่อนะคะ
ในตอนที่แล้วเราไปทำความรู้จัก ปูนปอร์ตแลนด์ ถึงลักษณะการใช้งาน ผู้ผลิตรายใหญ่ๆในประเทศไทย และยังทิ้งท้ายถึงวิธีการเลือกปูนที่ดี
จะเลือกยังไงให้เหมาะกับงานกันไปแล้ว
มาถึง EP. นี้ เราจะไปรู้จักปูนอีกประเภทหนึ่งที่ใช้สำหรับงานทั่วไปกันบ้าง เป็นปูนที่ช่างยังไงก็จำเป็นต้องใช้ ปูนประเภทนี้จะเกี่ยวข้องกับงานของเรายังไงไปดูกันเลยค่ะ
ว่าด้วยเรื่อง “ปูนซีเมนต์ผสม”
ปูนซีเมนต์ผสม ต่างจากปูนปอร์ตแลนด์ยังไง?
ปูนซีเมนต์ผสม เราจะไม่นำมาใช้ในงานโครงสร้าง แต่จะใช้กับงานทั่วไป…
ถามว่าอะไรที่เรียกว่างานทั่วไป ก็จำพวก งานก่อ งานฉาบ งานเท เป็นงานที่รับแรงอัดต่ำกว่าปูนปอร์ตแลนด์
ปูนซีเมนต์ผสมจะมีราคาถูกกว่าปูนปอร์ตแลนด์ในแบรนด์เดียวกัน มีทั้งแบบ 50 kg. และแบบ 40 kg.
ปูนซีเมนต์ผสมแบบ 50 กิโลกรัม
ปูนชนิดนี้เป็นปูนที่มีการแข่งขันในท้องตลาดสูง จะเรียกว่า Fighting Brand ก็ได้
ด้วยอัตราการแข่งขันที่สูงทำให้ผู้ผลิตบางเจ้า มีการปรับสูตรปูน ทำให้ให้เป็น Premium มากขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
โดยวิธีที่นิยมคือ การเติมสารบางตัวลงไปเพิ่มประสิทธิภาพปูน เช่น ทำให้ฉาบลื่นขึ้น เหนียวนุ่มขึ้น บางแบรนด์มีการใส่สารเคมีบางชนิด ทำให้เนื้อปูนมีอนุภาคละเอียดมากขึ้น อุ้มน้ำสูงขึ้น หรือบางแบรนด์มีการพัฒนาเนื้อปูนให้มีกำลังอัดสูงขึ้น เพื่อให้ได้คุณภาพใกล้เคียงปูนปอร์ตแลนด์ไปเลยก็มี
แต่ในทางกลับกัน นอกจากการปรับให้เป็นพรีเมี่ยมแล้ว หลายๆ เจ้ายังมีการปรับสูตรปูนให้มีราคาถูกลง เจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการลดต้นทุนการก่อสร้าง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกรูปแบบ เรียกว่าตลาดปูนซีเมนต์ มีการแข่งขันรุนแรงไม่แพ้ตลาดอื่นๆ
ปูนซีเมนต์ผสมที่บริษัทหนึ่งทำออกมา มักจะทำออกมามากกว่า 1 ยี่ห้อ และตามร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไป ก็จะเอามาขายหลายยี่ห้อเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า
ปูนซีเมนต์ผสมแบบ 40 กิโลกรัม
ปูนชนิดนี้ ในท้องตลาดจะเรียกว่า “ปูนซูเปอร์”
บริษัทแรกที่ทำปูนซูเปอร์ออกมาคือ เครือซีเมนต์ไทย หรือ SCG
โดยยี่ห้อแรกคือ ปูนเสือซูเปอร์ แต่อย่างที่รู้กันวงการปูนก็เหมือนวงการสินค้าอื่นๆ พอมีเจ้านึงทำออกมา เจ้าอื่นๆ ก็จะทำตาม
ตามหลักทฤษฎี Me to คือเมื่อคุณมี ผมก็ต้องมี จะไม่มีก็ไม่ได้
พอมีปูนเสือซูเปอร์ ก็ตามมาด้วย ปูนนกซูเปอร์ TPI เขียวซูเปอร์ ดอกบัวซูเปอร์ ราชสีห์ซูเปอร์ และเจ้าอื่นๆก็พากันมีปูนตระกูลซูเปอร์ออกมาอีกเป็นพรวน
โดยราคาปูนซูเปอร์ หรือปูน 40 kg. จะถูกกว่าปูน 50 kg. ประมาณ 10-15 %
บริษัทผู้ผลิตต่างพากันเคลมว่าปูนซูเปอร์ สามารถนำไปใช้งานได้ดีเทียบเท่าปูน 50 kg. ไม่ว่าจะใช้ในงานก่อ งานฉาบ งานเทต่างๆ แต่จริงๆ แล้วก็ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่า มันใช้งานได้เท่ากันจริงหรือไม่
เพราะการมีเนื้อปูน เพียง 40 kg. ยังไงก็ต้องใส่ทรายเพิ่มขึ้น กับราคาที่ต่างกันประมาณ 10% แต่เนื้อปูนที่ได้กลับลดลงถึง 20% โรงปูนก็มีกำไรมากขึ้น จึงเป็นเรื่องปกติที่แต่ละบริษัทจะพยายามดันขายปูนชนิดนี้ และเคลมว่าดี
แต่ยังไงก็ยังมีแรงต้านจากช่าง หรือคนทั่วไปที่พอคำนวณออกมาแล้วเชื่อว่ายังไง ปูน 40 kg. ก็ไม่มีทางสู้ปูน 50 kg. ได้
ตลาดปูนซีเมนต์ผสม แบ่งตามบริษัทผู้ผลิต
กลุ่มเครือซีเมนต์ไทย (SCG)
– ปูนชนิด 50 kg. ได้แก่ ปูนเสือ ปูนแรด
– ปูนชนิด 40 kg. ได้แก่ ปูนเสือซูเปอร์
กลุ่มปูนทีพีไอโพลีน
– ปูนชนิด 50 kg. ได้แก่ ปูนทีพีไอเขียว ปูนทีพีไอ 197
– ปูนชนิด 40 kg. ได้แก่ ปูนทีพีไอเขียวซูเปอร์
กลุ่มปูนซีเมนต์นครหลวง
– ชนิด 50 kg. ได้แก่ ปูนอินทรีแดง ปูนอินทรีเขียว
– ชนิด 40 kg. ได้แก่ ปูนอินทรีซูเปอร์
กลุ่มปูนซีเมนต์เอเชีย
– ชนิด 50 kg. ได้แก่ ปูนดอกบัวเขียว
– ชนิด 40 kg. ได้แก่ ปูนดอกบัวซูเปอร์
บริษัทภูมิใจไทยซีเมนต์
– ชนิด 50 kg. ได้แก่ ปูนราชสีห์เขียว
– ชนิด 40 kg. ได้แก่ ปูนราชสีห์ซูเปอร์
ควรเลือกปูนซีเมนต์ผสม แบรนด์ใดในท้องตลาด
เราจะเห็นว่าผู้ผลิตปูนซีเมนต์ 5 บริษัทหลักๆ ออกผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ผสมรวมๆ กันแล้วเกือบ 20 ยี่ห้อ ผู้บริโภคอย่างเราก็คงไม่แปลกที่จะสับสน ลังเล เลือกไม่ถูก
ถ้าถามความเห็นของผู้เขียน หากมีงบสูงๆ หรือมีงบประมาณไม่จำกัด แนะนำให้เลือกของเครือซีเมนต์ไทย (SCG) ไปเลยค่ะ อาจจะใช้เป็น ปูนเสือใหญ่ 50 kg. รองลงมาก็จะเป็น ปูนอินทรีแดง ตัวนี้ก็ดีเป็นตัวที่มีการปรับสูตรให้เป็นพรีเมี่ยม คือถ้าพูดถึง เสือกับนก คุณภาพจะใกล้เคียงสูสีกัน
แต่ถ้าใครต้องการประหยัดงบลงมาหน่อย จะเลือกเป็น ปูน TPI เขียว ดอกบัวเขียว หรือราชสีห์เขียว ก็ยังน่าใช้ถือเป็นปูนที่มีคุณภาพดี
สรุปว่า…หากคุณจะสร้างบ้าน ในส่วนของเมนหลักของบ้าน นอกเหนือจากการตบแต่ง ยังไงผู้เขียนก็เชียร์ปูน 5 แบรนด์หลักที่กล่าวมาแล้วข้างต้นค่ะ เพราะอย่างน้อยเราก็มั่นใจได้ส่วนหนึ่งว่าทุกตัวมี มอก.รับรองคุณภาพ แต่ถ้าเป็นแบรนด์อื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ผู้เขียนไม่ค่อยแนะนำ เพราะถ้าบ้านเราพัง เราจะไปเคลมกับใคร
เอาล่ะค่ะ 2 EP. ผ่านไปกับเรื่องปูนปอร์ตแลนด์ และปูนผสม พอจะเริ่มเก็ทกันบ้างหรือยังคะ ไหนๆก็มาทางสายปูนแล้ว EP. 3 ขอต่อเรื่อง “ปูนมอร์ตา” เลยนะคะ ให้จบเป็นเรื่องๆไป
“ปูนมอร์ตา” เป็นยังไง ? เอาไปใช้งานอะไรได้บ้าง ?
โปรดติดตามตอนต่อไป…